ความพยายามของนักการศึกษาระดับประเทศ ในการพัฒนามหาวิทยาลัยในสังคมไทย ให้พัฒนาจากระบบราชการไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ดำเนินการมาแล้วเกือบ 50 ปี เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพในการสอน วิจัย บริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สร้างความเข้มแข็งในความรับผิดชอบและค่าตอบแทน ทั้งคณาจารย์และบุคลากรทุกคน ด้วยระบบราชการมีปัญหาดังที่เราทราบกันเป็นอย่างดีแล้ว
มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่พึงมีมาตรฐานในการบริหารงานบุคคล วิชาการ และงบประมาณ สร้างความเป็นธรรมในความรับผิดชอบและสำนึกในหน้าที่ของตน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นปัญหาจากระบบราชการเป็นประการสำคัญ
พุทธศักราช 2542 ก.พ.ร.กำหนดให้ยกเลิกการจ้างข้าราชการในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องเรียนรู้และสร้างระบบใหม่สำหรับพนักงาน ระบบที่มีมาตรฐานและสามารถขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพและมีความเข้มแข็ง ให้สามารถแข่งขันและยืนอยู่ได้อย่างสง่างามในสังคมไทยและสังคมโลก โลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา มหาวิทยาลัยที่แข่งขันไม่ได้ มหาวิทยาลัยที่อ่อนแอ ก็จะกลายเป็นเหยื่อหรือเป็นปัญหาของสังคมอย่างแน่นอน
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีทุนของความเข้มแข็งทางวิชาการ ทุนของความดีงาม สันติสุข กัลยาณมิตร เอื้ออาทรต่อกันสืบเนื่องมากว่า 60 ปี แล้วมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จะร่วมกันพัฒนาตนเองอย่างไร จะยอมให้ล่าช้าหรือเป็นอยู่อย่างระบบราชการที่เป็นปัญหาต่อไป
ระเบียบมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย พนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2544 และมติการทำสัญญาช่วงละ 5 ปี หลังจาก 1+1+3 ปี พ.ศ.2545 ซึ่งการวางหลักการดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนผู้บริหารชุดปัจจุบัน (2546) การกำหนดหลักการของผู้บริหารชุดก่อนหน้านี้ ได้ดำเนินไปอย่างดีที่สุด ได้ศึกษาและเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยต่างๆ มีความสอดคล้องใกล้เคียง ด้วยเจตนารมณ์ที่จะเห็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยแนวหน้าอื่นๆ
พร้อมกันนั้น ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา (Quality Assurance : QA) การจัดอันดับมหาวิทยาลัย (University Ranking) และการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ (World Class University) ก็ตามมา คำถามสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่ว่า “เราประสงค์จะเห็น มศว ของเรามีมาตรฐาน มีการขับเคลื่อนในเชิงรุก เราพร้อมจะรับผิดชอบและทำงานหนักกันหรือยัง
ตามระเบียบมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย พนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2544
กำหนดให้ทำสัญญา 1 ปี 2 ครั้ง (1+1) หลังจากนั้นทำสัญญา 3 ปี หลังจากนั้นบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานประจำ ทำสัญญาครั้งละ 5 ปี เมื่อเป็นพนักงานประจำ การทำสัญญาครั้งละ 5 ปี จึงเป็นสัญญาเพื่อประเมินตรวจสอบการทำงาน ไม่ใช่สัญญาเพื่อพ้นสภาพการเป็นพนักงานประจำ
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย พนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2552
เมื่อคณาจารย์ขอตำแหน่งวิชาการระดับ “รองศาสตราจารย์” ได้ สามารถต่อสัญญาได้จนถึงอายุ 60 ปี การทำสัญญาครั้งละ 5 ปี ก็เพื่อประเมินตรวจสอบการทำงานตามหลักการเท่านั้น ส่วนสายสนับสนุนวิชาการ เมื่อถึงระดับชำนาญการไม่น้อยกว่า 10 ปี ก็สามารถทำสัญญาได้จนถึงอายุ 60 ปี เช่นกัน
หลักการต่อสัญญา 5 ปี เพื่อประเมินตรวจสอบการทำงาน ไม่ใช่สัญญาพ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้ว 2 ช่วง ในปี 2547 และ 2552
เมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยแนวหน้าต่างๆ แล้วจะพบว่า มาตรฐานของเราอยู่ในระดับกลางๆ ที่มีทั้งมหาวิทยาลัยที่เข้มแข็งมากและน้อยต่างกันไป ซึ่ง Benchmark ย่อมช่วยผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีโอกาสพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง เทียมบ่าเทียมไหล่กับมหาวิทยาลัยอื่นอย่างแน่นอน และจากประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่พัฒนาเรื่องนี้มาทศวรรษเศษ ยังไม่เคยมีใครมีปัญหาจนต้องยกเลิกสัญญา
มหาวิทยาลัยเป็นชุมชนวิชาการ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตรวจสอบของสภามหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัยของเรามีความเข้มแข็งมาก ผู้บริหารทุกมหาวิทยาลัยมาจากนักวิชาการ ครูอาจารย์ที่มีคุณธรรมความดีงามเป็นพื้นฐาน ต่างได้รับการยอมรับเชื่อมั่นจากประชาคม แต่ละคนต้องผ่านการกรอง มีทุนความดีงาม มีทุนการเสียสละเพื่อมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน ผู้บริหารจึงไม่น่าจะเป็นผู้ร้าย เป็นนักการเมือง เป็นผู้แสวงประโยชน์
เราคงต้องพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ มองประวัติศาสตร์ มององค์รวม มองสันติสุขของประชาคม แล้วมาสร้างพลังร่วมเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒของเรา ให้มีมาตรฐานสูง มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน มีคุณธรรมความดีงามและแข่งขันได้ให้จงได้